ผู้สูงอายุ หรือในบางครั้งเรียกว่า ผู้สูงวัย เป็นคำที่บ่งบอกถึงตัวเลขของอายุที่มาก โดยนิยมนับตามอายุตั้งแต่แรกเกิด หรือทั่วไป เรียกว่า คนแก่ หรือชรา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า คนแก่ คือ มีอายุมาก หรืออยู่ในวัยชรา ซึ่งให้ความหมายของคำว่าชรา คือ แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่า ผู้สูงอายุ คือประชากรทุกเพศ ซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่องค์การอนามัยโลก ยังมิได้ให้คำนิยามกับผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการนิยามผู้สูงอายุที่ต่างกัน โดยอ้างอิงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สังคม (Social)  วัฒนธรรม (Culture) และสภาพร่างกาย (Functional Markers) สำหรับประเทศไทย ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 นั้น หมายถึง บุคคลที่ซึ่งมีอายุเกินกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย

ปัญหาสำคัญที่พบในผู้สูงอายุ ได้แก่ ปัญหาทางด้านสุขภาพ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทางด้านความรู้ ปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาทางด้านจิตใจ ปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว และปัญหาค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนได้มองข้ามไปว่าส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มีการละเลยที่จะดูแลผู้สูงอายุ เช่น ในกรณีที่จะต้องออกไปทำงาน โดยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง ปัญหาข้างต้นที่ได้กล่าวมานั้น อาจะส่งผลกระทบถึงชีวิตผู้สูงอายุได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรตระหนักถึงสภาพร่างกาย จิตใจของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะเคยเป็นคนแข็งแรงในวัยหนุ่ม แต่เมื่อร่างกายเสื่อมถอยลงจึงเป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลอย่างเอาใจใส่และถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยไม่มองข้ามการพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการป่วยไข้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้นการป้องกันจึงย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ

ผู้สูงอายุ เป็นวัยบั้นปลายของชีวิต หรือหลายๆ คนเรียกกันว่าไม้ใกล้ฝั่ง ดังนั้นจึงมีปัญหาของผู้สูงอายุในทุกด้าน โดยเฉพาะทางด้านสังคมและสาธารณสุขที่แตกต่างกับวัยอื่นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทยและทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีความพยายามรวมถึงการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ทุกคนได้ตระหนัก เข้าใจ และพร้อมดูแลผู้สูงอายุให้เท่าเที่ยวเช่นเดียวกันกับการดูแลประชากรในกลุ่มอายุอื่นๆ ในผู้สูงอายุ จะมีภาวะของความโดดเดี่ยวจากครอบครัว ที่ทำให้รู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว และไม่มีใครสนใจ จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่กระทบต่อจิตใจ อีกทั้งยังส่งผลให้กับสุขภาพอีกด้วย ดังนั้นบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุอยู่ด้วย ควรมีการวางแผนในการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด และมีการเติมเต็มความสุขกันอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว เมื่อสภาพจิตใจดีขึ้น สภาพร่างกายและสุขภาพก็จะดีตามไปด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *