โรคอัลไซเมอร์ จัดเป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของสมอง ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะหลงลืมความจำ สถานที่ และเวลา อีกทั้งยังมีขั้นตอนความคิดที่บกพร่อง การรับรู้และสมาธิลดลง ความสามารถในการอยู่กับมนุษย์ในสังคมเองก็ลดลงไปด้วย ดังนั้นจึงควรใส่ใจดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข พร้อมกันนั้นผู้ดูแลเองก็จะไม่เกิดความรู้สึกท้อแท้หรือเหนื่อยใจมากขึ้น โดยวิธีดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีดังต่อไปนี้ 

1.เข้าใจกับโรคอัลไซเมอร์ 

สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คือการที่ผู้ดูแลเข้าใจในตัวโรคอัลไซเมอร์ด้วย ปัจจุบันมีสื่อจำนวนมาก เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต วิทยุ รายการโทรทัศน์ ยิ่งผู้ดูแลมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์มากเท่าใด ก็จะทำให้การรับมือกับผู้ป่วยง่ายขึ้นเท่านั้น 

2.เข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 

ปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้ป่วยคือการแก้ไขอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อให้การดูแลในขั้นตอนต่อไปนั้นง่ายขึ้น พร้อมกันนั้นผู้ดูแลควรพยายามหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นข้องหรือความไม่พอใจของผู้ป่วย และทำการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ก้าวร้าว รุนแรง หรือทำพฤติกรรมให้ผู้ดูแลไม่พอใจ ผู้ดูแลต้องคิดว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่มาจากอาการของโรค ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากนิสัยอันแท้จริงของผู้ป่วย 

3.ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และความเข้าใจในโรคของตนเอง 

ในขณะที่ผู้ป่วยยังสามารถรับรู้และทำความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ ผู้ดูแลมีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์โดยละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้ และให้ความร่วมมือในการดูแลเมื่ออาการของโรคนั้นพัฒนามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อย่าลืมกำหนดหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ป่วยในแต่ละวัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณค่าในตัวเอง 

4.ลักษณะการดูแลเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน 

การดูแลในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรใช้วิธีดังต่อไปนี้ 

-กำหนดตารางเวลาในการทำกิจวัตรต่างๆ อย่างคงที่ เช่น ตื่นนอน 6.00 น. รับประทานอาหารเช้า 7.30 น. การกำหนดเวลาในการทำกิจวัตรอย่างชัดเจนและเหมือนเดิมทุกวัน จะทำให้ผู้ป่วยจดจำได้ 

-เขียนชื่อสิ่งของส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ หวีผม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่สับสนในการใช้งานสิ่งของเหล่านี้ 

-เปิดม่านให้แสงสว่างส่องเข้าถึงภายในบ้านได้ หรือหากแสงธรรมชาติไม่เพียงพอ อาจเปิดไฟส่องสว่างเพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นสภาพแวดล้อมภายในบ้านชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดความหวาดกลัวหรือภาพหลอน 

-ไม่เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านโดยพละการ เพื่อป้องกันผู้ป่วยสับสน 

จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งการทำความเข้าใจโรคอัลไซเมอร์ การช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าใจโรคของตนเอง รวมถึงข้อปฏิบัติปลีกย่อยที่ผู้ดูแลต้องใส่ใจดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว ผู้ดูแลก็อย่าลืมใส่ใจสุขภาพจิตของตนเองและพยายามหาเวลาผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้ทั้งตนเองและผู้ป่วยมีความสุข 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *